วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

คำพิพากษาศาลฏีกาแผนกคดีแรงงาน - นายจ้างกำหนดวันอื่นเป็นวันหยุดประเพณี


คำพิพากษาที่ 11182/2553

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 29

การที่นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดอื่นเป็นวันหยุดตามประเพณีแทนวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้การประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของนายจ้างเป็นโมฆะ แต่ก็ถือได้ว่าประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของนายจ้างไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย และไม่เป็นการยกเว้นวันหยุดตามประเพณีตามมาตรา
29 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นายจ้างจึงยังคงต้องประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่นให้ลูกจ้างทราบและให้ลูกจ้างหยุดงานในวันดังกล่าว หากให้ลูกจ้างมาทำงานก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามกฎหมาย การที่นายจ้างกำหนดให้วันทำงานปกติของลูกจ้างเป็นวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณีและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณีตามอัตราค่าจ้างในวันหยุด ถือเป็นการตกลงจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานเกินไปกว่าค่าจ้างในวันทำงานปกติตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ไม่อาจนำเอาเหตุที่ได้จ่ายค่าจ้างเกินกว่าปกติกับการที่ลูกจ้างยอมรับค่าจ้างมาอ้างว่าลูกจ้างได้ให้ความยินยอม การที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างมากกว่าที่ควร ได้รับไม่ถือว่าเป็นการตกลงอันใดขึ้นใหม่ นายจ้างจะถือว่าได้ชำระหนี้ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดตามประเพณีแล้วหาได้ไม่และหากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามประเพณี ก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างอีกส่วนหนึ่ง

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ที่ 10/2548 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณา โจทก์ จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกัน หากลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ให้ลูกจ้างได้รับเงิน

ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาแก้คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด  ที่ 10/2548 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548 เฉพาะในส่วนของบัญชีท้ายคำสั่งให้เป็นไปตามบัญชีเอกสาร คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยหรือไม่เพียงใด ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัย วันหยุดตามประเพณีตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างมีโอกาสหยุดงานเพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามประเพณี หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นายจ้างไม่สามารถกำหนดวันหยุดอื่นมาชดเชยประกอบกับสภาพของงานที่ลูกจ้างทำงาน ไม่มีลักษณะตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2541) การที่โจทก์กำหนดวันหยุดอื่นแทนวันหยุดตามประเพณีจึงไม่ชอบ ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลย โจทก์อุทธรณ์ โจทก์ไม่เคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงานในวันหยุดตามประเพณีกับลูกจ้าง โจทก์ประกาศวันหยุดตามประเพณีโดยลูกจ้างยินยอมด้วยและได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ลูกจ้างไปแล้ว ไม่มีกฎหมายกำหนดให้การประกาศวันหยุดตามประเพณีของโจทก์เป็นโมฆะ และโจทก์ต้องรับผิดค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่แท้จริง โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด เห็นว่า แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้การประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของโจทก์เป็นโมฆะ แต่ก็ถือได้ว่าประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของโจทก์ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย และไม่เป็นการยกเว้นวันหยุดตามประเพณี ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โจทก์ยังคงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติที่จะต้องประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่นให้ลูกจ้างทราบและให้ลูกจ้างหยุดงานในวันดังกล่าว หากให้ลูกจ้างมาทำงานก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามกฎหมาย ข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไม่อาจรับฟังได้แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามวันที่โจทก์ประกาศให้แก่ลูกจ้างไปแล้วโดยลูกจ้างยินยอม เห็นว่า การที่โจทก์กำหนดให้วันทำงานปกติของลูกจ้างเป็นวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณีและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณี ตามอัตราค่าจ้างในวันหยุดถือเป็นการตกลงจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานเกินไปกว่าค่าจ้างในวันทำงานปกติตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ไม่อาจนำเอาเหตุที่ได้จ่ายค่าจ้างเกินกว่าปกติกับการที่ลูกจ้างยอมรับค่าจ้างมาอ้างว่าลูกจ้างได้ให้ความยินยอม การที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างมากกว่าที่ควรได้รับไม่ถือเป็นการตกลงอันใดขึ้นใหม่ โจทก์จะถือเสมือนว่าได้ชำระหนี้ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดตามประเพณีแล้วหาได้ไม่ หากโจทก์ให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามประเพณี ก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งตามคำสั่งของจำเลย ซึ่งชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 29 มาตรา 62 ถึงมาตรา 64 และมาตรา 124 ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น  พิพากษายืน

ขอบคุณข้อมูลจาก ศาลแรงงานภาค7

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

คน ระบบ และบริบท

เมื่อพูดถึงการสร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร ผู้ใหญ่ที่เคารพเคยสอนผมว่า มีสามสิ่งที่เราต้องใส่ใจหากต้องการพัฒนาเรื่องใดๆก็ตาม สามสิ่งนั้นคือ คน-ระบบ-บริบท...

ท่านยังได้สั่งสอนผมอีกว่าเมื่อใดก็ตามที่เรามีองค์ประกอบครบทั้งสามอย่าง การเติบโตก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดจะเกิดขึ้นในที่ที่มีความครบถ้วนขององค์ประกอบทั้งสาม

แต่ในชีวิตจริงเรามักจะพบว่าไม่บ่อยครั้งนักที่จะหาช่วงเวลาที่องค์ประกอบทั้งสามนั้นครบสมบูรณ์ในองค์กรไหนๆ

ที่เราพบมักจะมีสักหนึ่งหรือสองอย่างที่มี ที่เหลือยังขาดอยู่ ไม่ครบถ้วน หรือกำลังพัฒนา...

เมื่อเรามองลงในองค์ประกอบทั้งสามรายตัว เพื่อจะคาดการณ์ถึงสภาพความเจริญเติบโตที่เกิดขึ้น..ผู้ใหญ่ที่เคารพได้บอกใบ้ผมไว้ว่า

คน...คือองค์ประกอบที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในบรรดาองค์ประกอบทั้งหมด เพราะว่า...

หากเรามี คน เราก็มีพลังมากพอที่จะสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นได้

หากเรามี คน เราก็สามารถควบคุมองค์ประกอบทั้งสองที่เหลือได้

หากเรามี คน เราก็จะสามารถสร้างความมั่นคงแบบยั่งยืนได้

เมื่อเราหันมามองบ้านเมืองในวันนี้ เรากลับพบว่าองค์ประกอบที่เหลือทั้งสอง (ระบบ+บริบท) มีการเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด

เราพบว่าการมีส่วนร่วมภาคประชาชนมีมากที่สุดในยุคหนึ่งทีเดียว(บริบทดี)

เราพบว่ากฏหมาย ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ต่างๆที่ใช้ในการควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมือง เอกชน มีความยุติธรรมที่เข้มข้นเป็นที่น่าพึงพอใจ (ระบบดี)

แต่เรากลับขาดคนที่มีคุณภาพ ทำเพื่อชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

เราพบเห็นคนที่มีฝีปากกล้า แต่อ่อนล้าในฝีไม้ลายมือเชิงบริหาร

เราพบเห็นคนที่ขยันเอาเรื่องที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือมาพูด

เราพบเห็นคนที่ขยันเอากระพี้ของปัญหามาทำ แทนที่จะจัดการกับแก่นของปัญหา เพื่อสร้างความเจริญแบบยั่งยืน

ผมเสียดายแทนประเทศไทยที่ความเจริญของประเทศจะต้องฝากไว้กับคนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้....